ปัจจัยที่มีผล

ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาหลักสูตร
          การศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตร ผู้วิจัย (ภัทราภรณ์  โพนเงิน) ได้สังเคราะห์แนวคิดในด้านการพัฒนาหลักสูตรของกรมวิชาการ (2539) ที่คาดว่าสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา มี 2 ด้าน คือ
1.  ความพร้อมที่มีอยู่ภายในโรงเรียน เช่น บุคลากร การบริหาร วัสดุอุปกรณ์ ความร่วมมือระหว่างบุคคลในโรงเรียน ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนหรือท้องถิ่น
2.  ความพร้อมที่มีอยู่นอกโรงเรียน  เช่น ความร่วมมือของชุมชนผู้ปกครอง หน่วยงาน เป็นปัจจัยหลัก
                ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตร แบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ
1.  ปัจจัยภายใน
2.  ปัจจัยภายนอก
 ปัจจัยภายใน คือ ตัวแปรที่อยู่ในระบบโรงเรียนซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา หมายถึง มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์หรือมีอิทธิพลต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาทั้งในด้านการปรับขยาย เพิ่มเติม การจัดทำรายวิชา การจัดทำสื่อเสริม และการกำหนดกิจกรรมเสริม ได้แก่
1.  ความพร้อมด้านบุคคลากร
หมายถึง  การจัดเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรในด้านความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาหลักสูตร การจัดสรรจำนวนบุคลากรที่เหมาะสม และการแบ่งภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
 2.  ความพร้อมด้านสื่ออุปกรณ์และอาคารสถานที่
หมายถึง  การวางแผน การจัดเตรียมอาคารสถานที่ จำนวนสื่อ ที่อำนวยต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
 3.  ความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักสูตรของผู้บริหาร
หมายถึง  ความรู้ความสามารถของผู้บริหาร ในการวางแผนการบริหารจัดการหลักสูตรในด้านการจัดทำสาระการเรียนรู้ของหลักสูตร การสนับสนุนด้านอำนวยความสะดวกในการพัฒนาหลักสูตร การนิเทศติดตามการใช้หลักสูตร และการประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้
 4.  นโยบายการบริหารหมายถึง   การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน เพื่อให้มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยมีการจัดประชุมชี้แจงให้บุคลากรรับทราบและเข้าใจนโยบายของโรงเรียนและถือเป็นแนวปฏิบัติ
 5.  งบประมาณ
หมายถึง  การจัดสรรดำเนินการใช้เงินงบประมาณและนอกงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
  ปัจจัยภายนอก หมายถึง  ตัวแปรที่อยู่ภายนอกระบบโรงเรียนซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งในการพัฒนาหลักสูตรนั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคลากรในชุมชนหรือท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย เนื่องจากในสภาพปัจจุบัน ต้องการเน้นให้หลักสูตรสถานศึกษาที่พัฒนาขึ้นมานั้น ได้สะท้อนถึงสภาพปัญหาและภูมิปัญญาท้องถิ่น (กระทรวงศึกษา, 2545)  ได้แก่
1.  ความร่วมมือจากชุมชน
หมายถึง  การเข้าร่วมประชุม เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรจากบุคลากรในชุมชน การสนับสนุนช่วยเหลือด้านวิทยากรในท้องถิ่น และทุนทรัพย์ในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อการพัฒนาหลักสูตร
 2.  ความร่วมมือจากผู้ปกครอง
หมายถึง  การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการเข้าร่วมประชุม เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนช่วยเหลือในการใช้วัสดุ อุปกรณ์และทุนทรัพย์เพื่อการพัฒนาหลักสูตร
 3.  การสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น
หมายถึง  การช่วยเหลือจากหน่วยงานในชุมชน ในเรื่องของงบประมาณ สื่ออุปกรณ์ และการจัดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร

ที่มา : วิทยานิพนธ์ เรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สาขา วิจัยการศึกษา ภาควิชาการวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้วิจัย : ภัทราภรณ์  โพนเงิน (2548)